เร่งเอกชนรายงานประหยัดพลังงานในอาคารมี.ค.นี้ ช้าผิดกฎหมายแถมไม่ได้เงินสนับสนุน
- Monday March 27th, 2017
- Posted by: Chatchai Siri
- Category: Thai news

พพ. เตือนเอกชนรีบส่งผลตรวจสอบการจัดการพลังงานในอาคารตามกฎหมายภายใน มี.ค.นี้ เผยปี 60 เตรียมงบให้เปล่าหนุนอาคารเก่าประหยัดพลังงานอีกรายละ 40,000 บาท เปิดรับสมัครเข้าร่วมโครงการ 31 พ.ค. พร้อมระบุใกล้คลอดกฎหมายควบคุมอาคารสร้างใหม่ประหยัดพลังงาน คาดจะมีผลบังคับใช้ใน ภายใน 1-2 ปีนี้
นายดนัย เอกกมล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานและอาคารควบคุม จะต้องส่งรายงานผลการตรวจสอบและรับรองจัดการพลังงานให้ พพ. ภายในเดือนมี.ค. 2560 นี้ มิเช่นนั้นจะมีความผิดตามกฎหมายและอาจไม่ได้รับเงินสนับสนุนการดำเนินการประหยัดพลังงานของปี 2559 ที่ผ่านมาได้ ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบการจัดการพลังงานดังกล่าว ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ภาครัฐจะนำมาประเมินเพื่อกำหนดเป็นนโยบายการประหยัดพลังงานในอาคารต่อไป
สำหรับโรงงานและอาคารควบคุมที่เข้าเกณฑ์ต้องส่งรายงานได้แก่ อาคารโรงงานที่ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าตั้งแต่ 3,000 กิโลวัตต์ หรือ ติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้ารวมตั้งแต่ 3,530 กิโลโวลต์แอมแปร์ (KVA) หรือใช้พลังงานรวมตั้งแต่ 60 ล้านเมกะจูลต่อปี ซึ่งต้องมีผลการอนุรักษ์พลังงานไม่น้อยกว่า 1.5% ของปริมาณการใช้พลังงานรวม หรือประหยัดพลังงานไม่น้อยกว่า 3 แสนเมกะจูล เบื้องต้นมีผู้ขอรับการสนับสนุนและผ่านเกณฑ์ 746 แห่ง คิดเป็นเงินสนับสนุนรวม 29.84 ล้านบาท ซึ่งการจะรับเงินสนับสนุนดังกล่าวได้นั้นต้องส่งรายงานผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานให้ พพ.ก่อนเท่านั้น
ทั้งนี้ พพ. เตรียมดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานต่อในปี 2560 นี้ ภายใต้ชื่อ “โครงการส่งเสริมการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานด้วยกลไกการตรวจสอบ และรับรองการจัดการพลังงานตามกฎหมาย” โดยจะเปิดให้ยื่นใบสมัครได้ภายใน 31 พ.ค. 2560 โดยผู้ร่วมโครงการจะได้รับเงินสนับสนุนเงินรายละ 40,000 บาท กลุ่มเป้าหมายคือโรงงานและอาคารควบคุมเดิม ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมมาตรการนี้ในปี 2559 คาดว่ามีทั้งสิ้นประมาณ 4,000 แห่ง โดยจะมีการปรับเกณฑ์ให้ผู้ร่วมโครงการ เป็นกลุ่มที่มีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าขนาดตั้งแต่ 2,000 กิโลวัตต์ หรือติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้ารวมตั้งแต่ 2,350 KVA ขึ้นไป หรือใช้พลังงานรวมตั้งแต่ 40 ล้าน เมกะจูลต่อปี โดยมีเป้าหมายการประหยัดพลังงานให้ได้ 300 กิโลตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (KTOE )
นายดนัย กล่าวด้วยว่า สำหรับกลุ่มอาคารสร้างใหม่นั้น กระทรวงพลังงานเตรียมออกมาตรการประหยัดพลังงานตั้งแต่การก่อสร้าง โดยจะกำหนดเป็นกฎหมายบังคับ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดจากกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย หากผ่านการพิจารณาได้เร็ว คาดว่าจะเริ่มมีผลใช้ได้ภายใน 1-2 ปีนี้ โดยเกณฑ์เบื้องต้นจะกำหนดบังคับใช้กับอาคารใหม่ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1 หมื่นตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 100 อาคาร และปีต่อไปจะครอบคลุมอาคารตั้งแต่พื้นที่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป และจากนั้นจะครอบคลุมพื้นที่อาคารตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป คาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงานในอาคารลงได้ 10% เมื่อเทียบกับอาคารแบบเก่า แต่ยอมรับว่าค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างจะสูงขึ้นกว่าปกติ 6% เพราะวัสดุอุปกรณ์ส่วนใหญ่จะเป็นกระจก ทั้งนี้ เทคโนโลยีใหม่อาจช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการลงได้
Credit : http://energynewscenter.com/index.php/news/detail/662